CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ในแต่ละอุตสาหกรรม และแนวทางการปรับปรุง

By Tanin Chulasub I Head of Performance Marketing at ANGA

12 MARCH 25

204

CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ในแต่ละอุตสาหกรรม_ พร้อมแนวทางการปรับปรุง.webp

นักการตลาดออนไลน์ให้ความสำคัญกับการใช้ค่า CTR หรือ Click Through Rate ในการวัดความสำเร็จของแคมเปญที่ได้ทำไป แต่หลาย ๆ คนก็ยังมีความสงสัยว่า CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ? ด้วยเหตุนี้ ANGA Mastery จึงได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลออกมาให้คุณทราบว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ค่า CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่บ้าง? พร้อมอธิบายให้เข้าใจแบบชัด ๆ ว่า CTR คืออะไร, แนะนำ CTR บนแต่ละแพลตฟอร์มให้รู้จัก รวมถึงแนะนำวิธีปรับปรุงเว็บไซต์และแคมเปญโฆษณาเพื่อเพิ่ม CTR ให้ทราบกันด้วย

CTR คืออะไร สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร

CTR (Click Through Rate) คือตัวชี้วัดที่บอกว่ามีคนสนใจคลิกเข้าชมโฆษณาหรือเนื้อหาของเรามากน้อยแค่ไหน โดยคำนวณจากจำนวนคลิกเทียบกับจำนวนครั้งที่โฆษณาถูกแสดงผล ค่า CTR ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าโฆษณาหรือเนื้อหานั้นน่าสนใจและตรงใจกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้พวกเขาอยากคลิกเข้ามาดูรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่ง CTR มีความสำคัญมากสำหรับการทำโฆษณาออนไลน์ โดยเฉพาะบน Google Ads เพราะมีผลต่อคะแนนคุณภาพโฆษณา เมื่อ CTR สูง Google จะมองว่าโฆษณาของเรามีประโยชน์ต่อผู้ใช้ ส่งผลให้ได้ตำแหน่งโฆษณาที่ดีขึ้นและอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้ด้วย สำหรับการคำนวณค่า CTR นั้นก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยสูตร (จำนวนคลิก ÷ จำนวนการแสดงผล) × 100 

ตัวอย่าง

  • ถ้าโฆษณาของเราถูกแสดง 500 ครั้ง และมีคนคลิก 25 ครั้ง
  • ค่า CTR จะเท่ากับ (25 ÷ 500) × 100 = 5%

CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ในแต่ละอุตสาหกรรม

มีหลายคนสงสัยว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ค่า CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่? เพื่อที่จะได้นำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจของตัวเองและนำมาตั้งเป็นเป้าหมายในการทำโฆษณา โดยค่า CTR ที่ดีจะแตกต่างกันไปตามประเภทของโฆษณาและธุรกิจ ซึ่งการทำโฆษณาบน Google จะมีอยู่ 2 ช่องทางหลักคือ Search Network (โฆษณาที่แสดงในหน้าค้นหา) และ Display Network (โฆษณารูปภาพที่แสดงตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ) สำหรับ Search Network มีค่าเฉลี่ย CTR อยู่ที่ 3.17% ส่วน Display Network อยู่ที่ 0.46% ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ Search Network จะมี CTR สูงกว่า เพราะคนที่เห็นโฆษณากำลังค้นหาสิ่งที่ต้องการบน Search Engine อย่าง Google อยู่พอดีนั่นเอง

จากการรวบรวมข้อมูล Wordstream โดย LocaliQ ของปี 2023 พบว่าธุรกิจที่มี CTR สูงที่สุดบน Search Network 5 อันดับแรกคือ 

  • หาคู่และบริการจัดหาคู่ (Dating & Personals) มี CTR 6.05%
  • ท่องเที่ยวและการบริการ (Travel & Hospitality) มี CTR 4.68%
  • การรณรงค์และเผยแพร่ (Advocacy) มี CTR 4.41%
  • ยานยนต์ (Auto) มี CTR 4.00%
  • การศึกษา (Education) มี CTR 3.78%
     

ส่วนธุรกิจที่มี CTR ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย คือ

  • เทคโนโลยี (Technology) มี CTR 2.09%
  • ธุรกิจ B2B มี CTR 2.41%
  • บริการผู้บริโภค (Consumer Services) มี CTR 2.41%
  • การจ้างงาน (Employment Services) มี CTR 2.42%
  • สินค้าตกแต่งบ้าน (Home Goods) มี CTR 2.44%
     

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลถ้า CTR ของคุณต่ำกว่าตัวเลขข้างต้น เพราะนี่เป็นแค่ค่าเฉลี่ยเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าโฆษณาของเราสร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายหรือไม่ เช่น ถ้า CTR ต่ำแต่คนที่คลิกเข้ามาซื้อสินค้าเยอะ ก็ถือว่าโฆษณายังมีประสิทธิภาพดีอยู่ สุดท้ายแล้วการวัดความสำเร็จของโฆษณาต้องดูจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่แค่ CTR เพียงอย่างเดียว

รู้จักค่า CTR บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ 

แต่ละแพลตฟอร์มมีวิธีการวัดและแสดงค่า CTR แตกต่างกันไป แม้จะใช้หลักการคำนวณพื้นฐานเดียวกันคือ (จำนวนคลิก ÷ จำนวนการแสดงผล) × 100 แต่รายละเอียดและวิธีการเข้าดูข้อมูลจะมีความเฉพาะตัว ดังนั้นการทำความเข้าใจค่า CTR บนแต่ละแพลตฟอร์มจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงประสิทธิภาพโฆษณาได้ดียิ่งขึ้น

Facebook Ads

ค่า CTR บน Facebook Ads สามารถดูได้จาก Facebook Business Manager ซึ่งจะแสดงอัตราการคลิกของผู้ที่เห็นโฆษณาเทียบกับจำนวนการแสดงผลทั้งหมด หากโฆษณาใดมี CTR ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แสดงว่าอาจต้องปรับปรุงทั้งในส่วนของรูปภาพ ข้อความ หรือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แม่นยำมากขึ้น (คอร์สเรียน Facebook Ads)

Google Ads

Google Ads มีความพิเศษตรงที่ CTR จะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการค้นหาของผู้ใช้ โฆษณาที่มี CTR สูงมักเป็นผลมาจากการใช้คีย์เวิร์ดที่ตรงกับความต้องการของผู้ค้นหา และมีตำแหน่งการแสดงผลที่ดี โดยโฆษณาที่อยู่อันดับหนึ่งมักมี CTR สูงกว่าอันดับอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด (คอร์สสอน Google Ads)

Email Marketing

การวัด CTR ในอีเมลมาร์เก็ตติ้งจะคำนวณจากจำนวนคลิกต่อจำนวนอีเมลที่ส่งออกไป ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในแคมเปญ หากต้องการเพิ่ม CTR ควรให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อหัวข้ออีเมล การเขียนเนื้อหาที่กระชับ และการใช้ปุ่ม CTA ที่ชัดเจน

SEO

CTR ในการทำ SEO (Search Engine Optimization) สามารถดูได้จาก Google Search Console ซึ่งจะแสดงอัตราการคลิกเทียบกับจำนวนการแสดงผลในผลการค้นหา ค่า CTR ที่สูงบ่งบอกว่าหัวข้อและคำอธิบายเว็บไซต์ของเราน่าสนใจ และมีผลต่อการจัดอันดับใน Search Engine (คอร์สเรียน SEO

TikTok Ads

TikTok Ads แสดงค่า CTR ในแดชบอร์ดของ TikTok Ads Manager โดยคำนวณจากจำนวนคลิกที่วิดีโอหรือลิงก์ในโฆษณาเทียบกับจำนวนการแสดงผล ความพิเศษคือแพลตฟอร์มนี้เน้นเนื้อหาวิดีโอสั้น ๆ ดังนั้น CTR จึงขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของวิดีโอในช่วงวินาทีแรกเป็นสำคัญ

วิธีปรับปรุงเว็บไซต์และโฆษณา เพิ่มค่า CTR ให้สูงขึ้น

การปรับปรุงโฆษณาและเว็บไซต์ให้ตรงใจผู้ใช้งาน ทั้งการออกแบบที่สวยงาม เนื้อหาที่น่าสนใจ และการตั้งค่าที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะคลิกเข้ามาดูสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเติบโต มียอดขายที่ดี และมีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดงบโฆษณาในระยะยาว เพราะเมื่อโฆษณามีคนคลิกเยอะ Google จะมองว่าโฆษณาของเรามีคุณภาพ

เลือกคำค้นหาที่ตรงใจลูกค้า

ต้องเลือกคำค้นหาหรือคีย์เวิร์ด (Keyword) ที่ลูกค้ามักใช้ค้นหาสินค้าหรือบริการแบบเราจริง ๆ อย่าพุ่งเป้าไปที่คำยอดฮิตที่มีการแข่งขันสูงเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะเปลืองงบแล้ว ยังอาจไม่ได้ลูกค้าที่ตรงกลุ่ม ควรมองหาคำที่เฉพาะเจาะจงและตรงกับสิ่งที่เราขายมากที่สุด

เขียนข้อความโฆษณาที่ชวนคลิก

ข้อความโฆษณาต้องดึงดูดตั้งแต่แวบแรกที่เห็น ใช้คำที่เข้าใจง่าย ไม่อ้อมค้อม และบอกจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง ควรเน้นย้ำว่าลูกค้าจะได้อะไรจากสินค้าหรือบริการของเรา และจบด้วยคำที่กระตุ้นให้อยากคลิก เช่น "ช้อปเลย" "ดูโปรโมชัน" หรือ "จองตอนนี้"

ทำให้เว็บไซต์น่าใช้งาน

เว็บที่สวย โหลดไว ใช้งานง่าย คือกุญแจสำคัญที่ทำให้คนอยากอยู่นาน ๆ ต้องมีข้อมูลครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้ จัดวางทุกอย่างให้หาง่าย คลิกสะดวก ไม่ทำให้ลูกค้าสับสนหรือเสียเวลา

ใช้ส่วนเสริมโฆษณาให้คุ้มค่า

เพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ลงในโฆษณา เช่น เบอร์โทร ที่อยู่ หรือลิงก์ด่วนไปหน้าสินค้าต่าง ๆ ยิ่งให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ยิ่งดูน่าเชื่อถือ และช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้เร็วขึ้น

ทดลองปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ

ลองทำโฆษณาหลายๆ แบบ แล้วดูว่าแบบไหนได้ผลดีที่สุด ทั้งข้อความ รูปภาพ ช่วงเวลาที่ลง หรือตำแหน่งที่แสดง เก็บข้อมูลไว้ดูว่าอะไรที่ลูกค้าชอบ แล้วค่อย ๆ ปรับให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

สรุป

คุณก็ได้ทราบกันไปแล้วว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น โดยเฉลี่ยค่า CTR ควรอยู่ที่เท่าไหร่กันบ้าง ซึ่งคุณสามารถดูให้รู้ไว้ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดหนักและยึดถือเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ เพราะ CTR มันไม่มีตัวเลขที่ตายตัว แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจและเป้าหมายขององค์กร ในบางครั้งยอดขายคุณอาจจะสูงลิ่ว แต่ CTR ดันต่ำ แล้วเป้าหมายของคุณคือยอดขาย เท่านี้ก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม CTR ก็ถือว่าเป็นตัวชี้วัดความน่าสนใจของแคมเปญการตลาดออนไลน์ได้เช่นกัน

Related News

รู้จัก Churn Rate คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นฝันร้ายของคนทำธุรกิจ

Churn Rate คือตัวชี้วัดการสูญเสียลูกค้าที่ส่งผลโดยตรงต่อกำไรธุรกิจ เรียนรู้สาเหตุและ 5 เทคนิคลด Churn Rate ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงในบทความนี้

แชร์ 5 เครื่องมือใช้เช็กอันดับเว็บไซต์ SEO ที่เอเจนซี่ใช้จริง

รวม 5 เครื่องมือเช็กอันดับเว็บที่เอเจนซี่รับทำ SEO ใช้จริง พร้อมวิธีใช้งานทีละขั้นตอน ทั้ง Google Search Console, SERanking, Ahrefs และอื่น ๆ

สอนวิธีเช็กอันดับเว็บไซต์ เช็กอันดับ SEO ด้วยตัวเอง

รวมวิธีสอนเช็กอันดับเว็บง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เช็กอันดับ SEO ยังไงได้บ้าง เลือกมาให้แค่วิธีที่ง่ายและฟรี มือใหม่ทำได้ ไม่ต้องจ้างเอเจนซี่ อัปเดต 2025

รู้จัก Churn Rate คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นฝันร้ายของคนทำธุรกิจ

Churn Rate คือตัวชี้วัดการสูญเสียลูกค้าที่ส่งผลโดยตรงต่อกำไรธุรกิจ เรียนรู้สาเหตุและ 5 เทคนิคลด Churn Rate ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงในบทความนี้

แชร์ 5 เครื่องมือใช้เช็กอันดับเว็บไซต์ SEO ที่เอเจนซี่ใช้จริง

รวม 5 เครื่องมือเช็กอันดับเว็บที่เอเจนซี่รับทำ SEO ใช้จริง พร้อมวิธีใช้งานทีละขั้นตอน ทั้ง Google Search Console, SERanking, Ahrefs และอื่น ๆ

สอนวิธีเช็กอันดับเว็บไซต์ เช็กอันดับ SEO ด้วยตัวเอง

รวมวิธีสอนเช็กอันดับเว็บง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เช็กอันดับ SEO ยังไงได้บ้าง เลือกมาให้แค่วิธีที่ง่ายและฟรี มือใหม่ทำได้ ไม่ต้องจ้างเอเจนซี่ อัปเดต 2025

logo

ติดต่อเรา

ANGA Mastery คือแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ด้านการตลาดในยุคดิจิตอล ที่ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของเอเจนซีชั้นนำที่เคยลงมือทำจริง เรียนรู้เทคนิคที่ใช้ได้ผลจริง และนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้ทันที เหมาะสำหรับ ผู้บริหารองค์กร เช่น CEO, MD, VP, ผู้บริหารระดับสูง นักการตลาดระดับสูง เช่น Marketing Manager และ เจ้าของธุรกิจ